โรคติดเชื้อเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในจำนวนโรคทั้งหมด และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ โดยประเทศไทยประสบปัญหาแบคทีเรียดื้อยามากติดอันดับของภูมิภาคเอเชีย ไม่มีการผลิตยาต้านแบคทีเรียกลุ่มใหม่มานานกว่า 30 ปี การค้นหายากลุ่มใหม่และแนวทางใหม่ในการรักษาโรคติดเชื้อดื้อยาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนทุนแก่ ศ.ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และผู้อำนวยการสถานวิจัยความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์จากสารธรรมชาติในสมุนไพรไทย โดยใช้นาโนเทคโนโลยีเพิ่มคุณค่าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ด้วยโจทย์จากแพทย์ปฏิบัติการเวชบำบัดวิกฤต คือ การคิดค้นสารเคลือบที่ผิวท่อหายใจและถุงมือเพื่อลดการเกิดไบโอฟิล์มของเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวท่อหายใจที่ทำให้เข้าถึงยาปฏิชีวนะได้ยาก โดยท่อหายใจเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลว ผู้ป่วยในห้องไอซียู หรือการกู้ชีพ แต่หากใส่เกิน 48 ชั่วโมงผู้ป่วยกว่าร้อยละ 70 จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และถ้าเกิน 5 วันมักทำให้เกิดปอดอักเสบ มีค่ารักษาพยาบาลและนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น หรือเสียชีวิตได้
คณะวิจัยนำโดย ศ.ดร.ศุภยางค์ และนายศักรินทร์ เหล่ทองคำ นักศึกษาทุน พวอ. สกว. จึงร่วมกับ ดร.ฉลองรัฐ แดงงาม ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.นพ.วีรพงศ์ วัฒนาวนิช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และคณะ พัฒนาท่อช่วยหายใจเคลือบอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่สังเคราะห์จากสารสกัดจากใบกระทุพืชสมุนไพรในท้องถิ่น และเพื่อให้มีปริมาณมากเพียงพอในระดับอุตสาหกรรมจึงส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนใน อ.ระโนด จ.สงขลา ปลูกพืชชนิดนี้เพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ยังสังเคราะห์ได้จากใบยูคาลิปตัสที่เหลือทิ้งจากโรงงานกระดาษ
“ราคาของท่อหายใจชนิดนี้ยังมีราคาสูงประมาณชิ้นละ 20,000 บาท ขณะที่ท่อหายใจปกติราคาประมาณ 120 บาท อย่างไรก็ตามท่อดังกล่าวมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมีเจือปนอันอาจเป็นสาเหตุของการเกิดความเป็นพิษเหมือนกับของต่างประเทศ จึงช่วยลดอัตราการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อและค่าใช้จ่ายโดยรวมที่เกี่ยวข้องได้”
ด้าน นางสาวสุภากิจ เภาเสน เปิดเผยถึงปัญหาสำคัญของการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบว่ามีการแพร่กระจายทางการสัมผัสผ่านมือของบุคลากรทางการแพทย์บ่อยที่สุด ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคและนำพาไปสู่ผู้ป่วยอื่นๆ การใช้ถุงมือจึงเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่สำคัญ แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการสวมถุงมือไม่ถูกต้องตามข้อบ่งชี้
“คณะวิจัยจึงนำสารต้านเชื้อจุลินทรีย์จากยูคาลิปตัสมาใช้แทนสารเคมีรุนแรงในการรีดิวซ์ซิลเวอร์ไอออนให้กลายเป็นอนุภาคซิลเวอร์นาโนเคลือบด้านนอกและด้านในถุงมือ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคในวงกว้าง ทั้งแบคทีเรียกรัมบวกและลบสามารถเกาะกับเนื้อเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรียและแทรกตัวเข้าไปในเซลล์ รบกวนการทำงานในระดับโมเลกุล”
ทีมวิจัยเห็นว่างานวิจัยนี้ยังช่วยยกระดับคุณภาพของถุงมือยางในประเทศไทย และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้เพิ่มมูลค่าของยางพาราด้วยการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะถุงมือยางซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญมาก ไทยมีชื่อเสียงด้านการผลิตที่ได้คุณภาพ มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและราคาเหมาะสม
“ถุงมือยางนี้มีต้นทุนการผลิตคู่ละ 30 บาท ส่วนราคาจำหน่ายในปัจจุบันคู่ละประมาณ 200 บาท ทำให้ผู้ใช้และหน่วยงานทุกระดับที่มีความจำเป็นต้องใช้งานสามารถเข้าถึงได้”
ที่มา: https://mgronline.com/science/detail/9610000112781?fbclid=IwAR2LF3UX5dZmq5WZMY0wewfGy8zqXYjkvMVGr7htlj8kZUIfB_FHZ5mpdFs
Comments